สูตรเรียกสินสอด จ่ายเท่าไรลงตัว
ไม่ว่านิยามของความรักเป็นเช่นไร เมื่อความรักบ่มตัวจนสุกงอมได้ที่ หรือคู่รักพร้อมจะใช้ชีวีร่วมกัน…การแต่งงาน คือ ธรรมเนียมปฏิบัติดีงามที่ตามมา
แต่ก็มีคำถามจนได้ว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ หากคู่รักคิดจะแต่งงานกัน ฝ่ายเจ้าบ่าวควรต้องเตรียมเงินทองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกี่มากน้อย หรืออีกนัย พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวควรจะเรียกสินสอดเป็นจำนวนเท่าไร จึงจะสมน้ำสมเนื้อ แต่ไม่เป็นภาระกระอักเลือดแก่อีกฝ่าย
วันนี้ คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 มีข้อมูลน่าสนใจจาก ภศุ ร่วมความคิด เจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์ เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) แห่งคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาฝาก ในหัวข้อ “ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรได้รับ หรือต้องจ่ายสินสอดเท่าไร”
วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ ประเมินมูลค่าสินสอด โดยใช้แบบจำลองที่เรียกว่า เฮดโดนิค (Hedonic Pricing Model : HPM)
ภศุบอกว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ การแต่งงานถือเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงอย่างหนึ่ง (Binding Commitment) นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมไทย “การให้สินสอด” ยังถือเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของพิธีแต่งงาน
“สินสอด” จึงเป็นราคาในทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่งของข้อตกลงแต่งงาน (หรือหมั้น) เพียงแต่มิได้มีการซื้อขายผ่านตลาด (Non-Marketable Trade) จึงไม่มีราคาตลาด (Non-Market Price) รวมทั้งไม่สามารถใช้วิธีการทั่วไปในการประเมินมูลค่าได้
ราคาของสินสอด มักถูกกำหนดผ่านกระบวนการเจรจาต่อรอง เรียกว่า “การเจรจาสินสอด” โดยในการเรียกสินสอดของฝ่ายหญิง มักมีการตกลงเบื้องต้นก่อนขั้นตอนการเจรจาสู่ขอจริง
ถ้าฝ่ายหญิงเรียกสินสอดที่สูงเกินไป ฝ่ายชายก็จะทำการต่อรอง จนกระทั่งได้มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายหญิงพอใจ และฝ่ายชายสามารถจ่ายได้
เนื่องจาก “สินสอด” ไม่มีราคาทางตลาด ภศุบอกว่า เขาจึงใช้แบบจำลอง เฮดโดนิค เข้ามาอธิบาย โดยผนวกเอาตัวแปรคุณลักษณะต่างๆของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเข้ามาวิเคราะห์ แทนที่จะเป็นตัวแปรของตลาด โดยคู่บ่าวสาว ก็ถือเป็นผู้ร่วมต่อรองราคาซึ่งกัน
ท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้ “มูลค่าของสินสอด” หลังการต่อรองของทั้งสองฝ่าย อยู่ที่ระดับ “ราคาดุลยภาพ” (Equilibrium Price)
ภศุบอกว่า มูลค่าและราคาของสินสอดเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ “มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายชายเต็มใจจะจ่าย” (Willingness to Pay) ไม่จำเป็นต้องมีค่าเท่ากับ “มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายหญิงพึงจะรับ” (Willingness to Accept)
เขาใช้แบบจำลองแยกวิเคราะห์ ศึกษา และเก็บข้อมูลตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้แบบสอบถามกับคู่แต่งงานจำนวน 220 คู่ หรือ 440 คน ประกอบการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยมีข้อมูลของคู่แต่งงานตั้งแต่ปี 2526 ถึง 2550 ภายใต้ระยะเวลาที่คู่แต่งงานคบหากันก่อนแต่งงานนานที่สุด 18 ปี และสั้นที่สุด 1 ปี หรือมีค่าเฉลี่ยประมาณ 5 ปีครึ่ง
ภศุบอกว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาพบว่า มูลค่าของสินสอดที่ฝ่ายหญิงมีการเรียกจากฝ่ายชายสูงสุด มีมูลค่าเกือบ 6.7 ล้านบาท และต่ำสุดอยู่ที่ หมื่นกว่าบาท เมื่อคำนวณออกมาเป็นค่าเฉลี่ยของสินสอด จะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท
เขาบอกว่า จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาสินสอด ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ การศึกษา ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว และการได้แต่งงานเป็นบุคคลลำดับที่เท่าไรของบ้าน
เช่น เมื่อคู่แต่งงาน (ฝ่ายชายหรือหญิง) มีระดับรายได้สูงขึ้น 1 บาท จะทำให้มูลค่าของสินสอดเพิ่มขึ้นไป 2 บาทเศษ เมื่ออายุของคู่แต่งงานสูงขึ้น 1 ปี จะทำให้มูลค่าสินสอดเพิ่มขึ้นไปอีก 8,986 บาท หากคู่แต่งงานมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ มูลค่าสินสอดจะเพิ่มขึ้นไปอีก 174,818 บาท
และหากคู่แต่งงานออกเรือนหรือแต่งงานเป็นคนแรกของครอบครัว จะทำให้มูลค่าของสินสอดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปอีก 227,064 บาท
…ภศุบอก ดูเหมือนว่าการแต่งงานเร็วจะดี เพราะรายได้ยังต่ำ และอายุก็น้อย มูลค่าของสินสอดก็พลอยต่ำตามไปด้วย แต่จากการประมวลผลแบบแยกฝ่ายชายออกจากฝ่ายหญิง เขาว่า กลับให้ผลการศึกษาดังนี้
เมื่อฝ่ายชายมีรายได้สูงขึ้น 1 เท่า จะเต็มใจจ่ายค่าสินสอดให้ฝ่ายหญิงเพิ่มขึ้น 20% แต่ถ้าฝ่ายหญิงเป็นผู้มีรายได้สูงขึ้น 1 เท่า กลับต้องการจะเรียกค่าสินสอดจากฝ่ายชายเพิ่มขึ้นถึง 32%
นอกจากนี้ระยะเวลาในการคบหา และตำแหน่งหน้าที่การงานของฝ่ายหญิง ยังเป็นอีก 2 ปัจจัยที่มีผลต่อความเต็มใจจ่ายค่าสินสอดเพิ่มขึ้นของฝ่ายชาย รวมทั้งความเป็นคนกรุงเทพฯของฝ่ายหญิงยังมีผลต่อการเรียกค่าสินสอดเพิ่มขึ้นของฝ่ายหญิงด้วย แต่ไม่มีผลกับฝ่ายชาย
ภศุยกตัวอย่าง หากคู่บ่าวสาว ต่างมีรายได้เฉลี่ยคนละ 20,000 บาทต่อเดือน มีอายุ 30 ปี ทั้งคู่เป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และแต่งงานเป็นคนแรกของครอบครัว โดยที่ต่างคนต่างไม่มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวของตน และทั้งคู่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง
ค่าสินสอดที่ถือว่าได้ดุลยภาพ จะคำนวณออกมาได้เป็น (2.2205 ×รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92×อายุ) + (ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ 174,818.6) + (227,064.1 ถ้าแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว)
หรือเท่ากับ (2.2205×20,000 บาท) + (8,986.92×30 ปี) + (174,818.6 เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ) + (227,064.1 เพราะแต่งงานเป็นคนแรกของบ้าน) ค่าสินสอดที่เหมาะสม คือ 715,590.3 บาท
แต่ถ้าเปลี่ยนโจทย์ใหม่เป็นว่า คู่สมรส จบการศึกษาไม่เกินระดับมัธยม หรือ ปวช. ต่างมีรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน มีอายุ 30 ปี ทั้งคู่เป็นคนกรุงเทพฯและแต่งงานเป็นคนแรกของครอบครัว โดยที่ต่างคนต่าง มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวของตน แต่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง
มูลค่าของสินสอดที่เหมาะสมจะกลายเป็น (2.2205 × รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92×อายุ) + (เพราะเป็นคนกรุงเทพฯ 174,818.6) – (454,350.5 เพราะจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 เพราะแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 เพราะมีภาระต้องดูแลครอบครัวของตน) ค่าสินสอดที่เหมาะสมคือ 127,389 บาท
เขาบอกว่า จากตัวอย่างข้างต้น เป็นเพียง ค่าสินสอด อย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่รวมค่าชุดแต่งงาน ค่าถ่ายรูปพรีเวดดิ้ง ค่าสถานที่จัดงานเลี้ยง ค่าขันหมาก ของชำร่วย ค่าแต่งหน้า ทำผม ค่าดนตรี ค่า อาหาร ฯลฯ
แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงคงขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน หากตกลงกันได้บนพื้นฐานของความรักและความเข้าใจ มูลค่าของสินสอด อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลยก็ได้