ย้อนรอย คลื่นยักษ์สึนามิ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เมื่อ 11 ปีที่แล้ว
ย้อนไปเมื่อ เวลา 07.58 น.ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความเสียหายบนเกาะสุมาตรา และยังรับรู้ได้ในภาคใต้ของประเทศไทย แผ่นดินไหวเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย ด้วยความลึก ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นการกระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตร เข้าท่วมทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ใน 14 ประเทศมากกว่า 230,000 คน นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย และประเทศไทย ตามลำดับ
ความรุนแรงของแผ่นดินไหวอยู่ระหว่าง 9.1 ถึง 9.3 โมเมนต์แมกนิจูด ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นอันดับที่สามตามที่เคยวัดได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismometer) นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีคาบเวลายาวนานที่สุด โดยการสังเกตคาบเวลาอยู่ที่ประมาณ 8.3 ถึง 10 นาที ส่งผลให้แผ่นดินทั่วทั้งผืนโลกเคลื่อนตัวไปถึง 1 เซนติเมตร และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในจุดอื่น ๆ ของโลกอีกด้วย เฉพาะในประเทศไทย ความเสียหายกระจายตัวอยู่ใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียมากที่สุด และเพราะไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วจึงไม่ได้มีการระมัดระวังและป้องกันไว้ล่วงหน้า คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร พวกเขาถูกคลื่นยักษ์กลืนกินแบบไม่ทันตั้งตัว
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่เสียหายหนักในเวลานั้นมีอยู่ 8 แห่ง เริ่มตั้งแต่ชายทะเลเขาหลัก ในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก - ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จุดนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีโรงแรม และที่พักนักท่องเที่ยวตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ก็มี เกาะสิมิลัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา, หาดราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต, หาดกะรน ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต, หาดกะทู้ ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต, หาดกมลา ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต, หาดป่าตอง ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต, เกาะพีพี อำเภออ่าวนาง จังหวัดกระบี่
ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2548 มีการสรุปความเสียหายและจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย ในประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5,395 ราย ผู้สูญหายจำนวนทั้งหมด 3,370 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8,457 ราย ไร้ที่อยู่ในขณะนั้น 7,000 ราย ต่อมาได้มีการรับแจ้งจากญาติพี่น้องของผู้ประสบภัยภายหลังการเกิดเหตุ จำนวนดังกล่าวนี้ลดลงเพราะได้พบผู้ที่รับแจ้งว่าสูญหายบางคนแล้ว นอกจากนี้ยังมีการค้นพบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการตรวจสอบเอกลักษณ์ของศพที่เก็บรักษาไว้เพื่อให้ทราบว่าเป็นผู้ใด ในรายงานของกระทรวงมหาดไทยที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2548 เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังทำให้ คุณพุ่ม เจนเซน พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระโอรสใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ถึงแก่อนิจกรรมด้วย นอกจากมีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหายเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีความเสียหายในด้านทรัพย์สิน ได้แก่ บ้านเรือนของราษฎร โรงแรม บังกะโล เกสต์เฮาส์ ร้านค้า ร้านอาหาร ทรัพย์สินส่วนตัวของนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน เป็นมูลค่ากว่าพันล้านบาท