นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงิน แบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์)ครบวงจร ซึ่งจะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และ การส่งเสริมอีเพย์เมนต์ในทุกภาคส่วน
"แผน ยุทธศาสตร์นี้ยังจะช่วยสนับสนุนนโยบายอื่น ๆ ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอีโคโนมี โครงการระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ นโยบายการส่งเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนในกรณีต่างๆ ของภาครัฐ"นายอภิศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงิน ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่
1.โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม) การทำให้การโอนเงินและการรับชำระเงินสามารถทำได้โดยง่าย โดยใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือจากการใช้เลขที่บัญชีธนาคารอย่างในปัจจุบัน
2.โครงการการขยายการใช้บัตรมากขึ้น โดยสร้างจุดรับเงินให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านค้าหรือบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์
3.โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
4.โครงการ e-Payment ภาครัฐ โดยโครงการนี้จะรวมถึงการบันทึกผู้มีรายได้น้อยอย่างสมัครใจ ซึ่งใครที่มีรายได้น้อยสามารถลงทะเบียนเพื่อให้ได้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสิทธิประโยชน์ โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยลงทะเบียนบัตร โดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้เมื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีบัตรแล้ว หากต้องการใช้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ก็สามารถใช้บัตรเพื่อใช้จ่ายแทนเงินสดได้ เช่น การขึ้นรถเมล์ หรือการซื้อตั๋วรถไฟ ซึ่งอาจจะได้ลดราคาตั๋วรถไฟพิเศษ 50% หรือการรักษาพยาบาลได้ ถือเป็นการบูรณาการสวัสดิการประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการหว่านแห เช่น รถเมล์ฟรี ที่ผู้มีรายได้ปกติก็สามารถขึ้นรถเมล์ได้ โดยการจดทะเบียนของผู้มีรายได้น้อย คาดว่าจะเริ่มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559และ
5.โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้มีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะมีการจัดชิงโชครางวัล ซึ่งในการขับเคลื่อนโครงการทั้ง 5 จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินฯ โดยจะเร่งดำเนินการตามแผนและคาดว่าจะทุกโครงการให้เสร็จภายในปี 2560
"แผนยุทธศาสตร์นี้คาดว่าจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ประมาณ 75,000 ล้านบาทต่อปี จาก ประชาชน ที่จะสามารถลดต้นทุนจากการพกพาเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินแบบ อิเล็กทรอนิกส์แทน และมีความสะดวกมากขึ้นจากการเชื่อมโยงของระบบชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลายจากภาคการธนาคาร ที่จะสามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร การบริหารจัดการเงินสดและเช็ค และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินสดที่เก็บไว้ในศูนย์จัดการเงินสด จาก ภาคธุรกิจ รวมถึงร้านค้าที่สามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 45,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค และการพิมพ์และจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี และเชื่อว่าระบบนี้จะดีที่สุดในโลก"นายอภิศักดิ์กล่าว
และว่า นอกจากนั้น แผนฯจะบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนของระบบ ผ่านการพัฒนาระบบนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม และระบบนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลภาษีที่ครบถ้วนมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการรายได้ที่ดีเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ