loading...

พระประจำวันเกิด

พระประจำวันเกิด
พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ ปางถวายเนตร
พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอาการสังวรทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ์
ประวัติย่อ เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงประทับยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ร่มโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นจึงเสด็จออกไปจากภายใต้ร่มโพธิ์ไปประทับยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทอดพระเนตรพระศรีมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลา ๗ วัน เพื่อรำลึกถึงคุณประโยชน์ของต้นมหาโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านประทานร่มเงา ให้ความชุ่มเย็น เป็นการอำนวยช่วยพระองค์จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เกร็ดโหร
เชื่อกันว่าผู้ที่มีดาวอาทิตย์โดดเด่น จะเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์ มีความเป็นผู้นำสูง มองโลกในแง่ร้ายก็ต้องบอกว่าเป็นคนมีอัตตาสูง ถือตัวเองเป็นใหญ่ การบูชาพระปางถวายเนตรจะช่วยสอนใจให้รู้จักใจสงบร่มเย็น รู้จักความอ่อนน้อมถ่อมตน ระลึกถึงความดีงามของผู้ที่อยู่รอบข้าง ดุจดั่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงรำลึกถึงคุณประโยชน์ของต้นมหาโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านประทานร่มเงา ให้ความชุ่มเย็น ถึงแม้จะเป็นเพียงต้นไม้ก็ตาม
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะคุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะ ธัมเม, เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พึทธานัง นะมัตถุ โพธิยา, นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมังโส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา

พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ บางตำราใช้ปางห้ามญาติหรือปางห้ามสมุทร (ลักษณะอาการเดียวกัน) บางตำราใช้ปางห้ามพยาธิ
ปางห้ามญาติหรือปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม
ปางห้ามพยาธิ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงแนบพระวรกายตามปกติ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) แบฝ่าพระหัตถ์ตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้าม
เกร็ดโหร
มีความเชื่อว่าผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากดาวจันทร์ จะเป็นผู้อ่อนโยน ชอบเอาอกเอาผู้อื่น และชอบให้ผู้อื่นเอาอกเอาใจ นอกจากนี้ดาวจันทร์มีผลโดยตรงกับเหตุการณ์น้ำขึ้นน้ำลงบนโลก จึงมักพยากรณ์ว่ามีความผูกพันกับน้ำ ดาวจันทร์เป็นดาวแห่งอารมณ์ ความเพ้อฝัน ถ้ามองโลกในแง่ร้ายก็ทำให้ผู้คนเอาอรมณ์เป็นที่ตั้ง รู้สึกหวั่นไหวต่อสิ่งต่างๆได้ง่าย การที่คนโบราณแนะนำให้บูชาปางห้ามสมุทร หรือปางห้ามญาติ เพื่อเตือนใจให้คิดถึงเหตุผล มากกว่าทำอะไรลงไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เพื่อชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุขสืบไป
ประวัติย่อปางห้ามสมุทร ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานับประการเพื่อให้อุรุเวลกัสสปะคลายความพยศลง พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกลมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง เหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงยอมรับในพุทธานุภาพ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ประวัติย่อ ปางห้ามญาติ ครั้งหนึ่งเหล่ากษัตริย์ศากยวงศ์ พระญาติฝ่ายพุทธบิดา และเหล่ากษัตริย์โกลิยวงศ์ พระญาติฝ่ายพุทธมารดา ทะเลาะวิวาทกันเพราะเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเนื่องจากฝนแล้ง น้ำไม่เพียงพอ การทะเลาะวิวาทลุกลามไป จนเกือบกลายเป็นศึกใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเหตุด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปห้ามสงคราม โดยตรัสให้เห็นถึงความไม่สมควรที่กษัตริย์ต้องมาฆ่าฟันกันด้วยสาเหตุเพียงแค่การแย่งน้ำเข้านา และตรัสเตือนสติว่า ระหว่างน้ำกับความเป็นพี่น้อง อะไรสำคัญยิ่งกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงได้สติ คืนดีกัน และขอพระราชทานอภัยโทษต่อเบื้องพระพักตร์พระพุทธองค์
ประวัติย่อ ปางห้ามพยาธิ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงย่างพระบาทสู่พื้นดินนครเวสาลี ทรงรำลึกถึงพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญเพียรมาตั้งแต่อดีตชาติ ทันใดนั้น มหาเมฆเริ่มตั้งเค้า สายฟ้าแลบแปลบปลาบ ฝนกระหน่ำลงมา บังเกิดสายน้ำพัดพาซากศพมนุษย์และสิ่งปฏิกูลทั้งหลายออกสู่ทะเล เมื่อฝนหยุด พื้นแผ่นดินก็สะอาด ปราศจากสิ่งปฏิกูลอากาศที่ร้อนก็พลันเย็นลง พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์สวดพระปริตรรัตนสูตร และปะพรมน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ตลอดราตรี บรรดาภูติผีปีศาจตกใจกลัวพุทธานุภาพพากันหนีไปจนหมดสิ้น มหาชนทั้งหลายเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาต่างเกิดศรัทธา พากันประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันจันทร์
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ

พระพุทธรูปประจำวันอังคาร ปางโปรดอสุรินทราหู (ปางไสยาสน์)
ไม่ใช่ปางปรินิพพานอย่างที่หลายท่านเข้าใจ(ปางปรินิพพานพระหัตน์จะวางราบไปกับที่บรรทม และจะหลับพระเนตร)
พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้)
ประวัติย่อ สมัยหนึ่ง เมือ่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นอสุรินทราหูจอมอสูร ซึ่งสำคัญว่ามีร่างโตใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิจองอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าจอมอสูร จอมอสูรจึงละทิฐิยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์
เกร็ดโหร
เชื่อกันว่าผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากดาวอังคาร จะเป็นคนกล้าขยัน มุทะลุดุดัน ทำให้เกิดการกระทบกระทั้งได้ง่าย คนโบราณจึงให้บูชาพระปางนี้ เพื่อเตือนสติให้รู้จักหยุดหยั้งคิด มีความอ่อนโยนต่อผู้อื่น เพื่อจะได้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอังคาร
ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิก เขปิ ปาณิโน ปะติฏฐะมะธิ คัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิ สัมภะวา คะณะนานะ จะ มุตตานัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห

พระประจำวันพุธ ปางอุ้มบาตร
พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว
ประวัติย่อ ครั้งหนึ่ง หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเวสสันดรชาดก โปรดพระพุทธบิดาและหมู่พระญาติทั้งหลาย บรรดาพระประยูรญาติต่างมีความแช่มชื่นโสมนัส จนลืมกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้มารับภัตตาหารเช้าในพระพราชวัง ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเสด็จออกรับบิณฑบาตจากประชาชนทั่วไปในกรุงกบิลพัสดุ์
เกร็ดโหร
ผู้ที่ได้รับอิทธิพลของดาวพุธนั้น จะเป็นคนเจ้าความคิด ช่างจำนรรจา เรียกว่าพูดเร็วคิดเร็ว ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นผู้เรียนรู้สิ่งต่างๆได้ง่าย เจรจาอ่อนหวาน แต่บางครั้งก็คิดลึก คิดซับซ้อน คิดมาก จนเกิดโทษ หรือพูดมากจนเกิดภัย ทำนองปลาหมอตายเพราะปาก เนื่องด้วยดาวพุธเป็นดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เวลามองจากโลกบางครั้งดูเหมือนดาวพุธจะเดินหน้าเร็วบ้าง หยุดนิ่งบ้าง หรือเดินถอยหลังบ้าง ทั้งที่ดาวพุธก็โคจรปกตินะแหละครับ (ปรากฏการณ์เดียวกับที่เรามองเสาไฟ หรืออาคารขณะนั่งรถ บางครั้งก็เห็นเสาไฟฟ้าถอยหลังบ้าง เดินหน้าบ้าง หยุดนิ่งบ้าง) ภาษาโหรเรียกว่าโคจรวิกลจริต ดังนั้นจึงเป็นดาวที่ต้องใช้สติกำกับคำพูด และความคิดตนเองให้จงดี คนโบราณให้บูชาพระปางอุ้มบาตร ด้วยความเชื่อสองเหตุผล ประการแรกคือให้เป็นผู้รับ ผู้ฟังที่ดี เปรียบเหมือนพระภิกษุสงฆ์ที่พระพุทธองค์กำหนดให้รับบาตรเพื่อฝึกตนให้เป็นผู้รับ เพื่อลดความถือดี จะได้ลดความทะนงตนว่าไม่ง้องอนผู้ใด ประการที่สองพระพุทธองค์ให้พระภิกษุสงฆ์ครองสติ และพระวินัยอย่างระมัดระวังประดุจอุ้มบาตรที่มีน้ำเต็มเสมอขอบ
เกร็ดที่สอง จะขอบอกว่าโหราจารย์ในอดีตไม่กำหนดให้แบ่งคนเกิดวันพุธกลางวัน หรือวันพุธกลางคืน อย่างในปัจจุบัน เพราะโหราจารย์ไม่ต้องการให้ใครเกิดในตำแหน่งราหูซึ่งเท่ากับดาวพี่ใหญ่แห่งดางศุภเคราะห์อย่างดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นดาวคุ้มครองชะตาชีวิต มาเป็นกาลกิณีแห่งดวงชะตาของผู้ใด
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ
สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเห

พระประจำวันพฤหัสบดี ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้
พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย (เรียกว่าขัดสมาธิราบ ถ้าขาไขว้กันจะเรียกขัดสมาธิเพชรครับ)
ประวัติย่อ ภายหลังจากที่พระมหาบุรุษได้กำราบพระยามารลงได้แล้ว พระองค์จึงได้ตั้งพระทัยเจริญสมาธิจนได้ญาณขั้นต่างๆ และในที่สุดก็ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาเช้าตรู่ของวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา)
เกร็ดโหร
เชื่อว่าผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากดาวพฤหัสบดีมักจะเป็นผู้มีปัญญาทางธรรม รักความยุติธรรม และระเบียบวินัย ซึ่งถ้ามีมากไปก็เป็นผู้จ้ำจี้จำไช สร้างความวุ่นวายให้ผู้ที่อยู่รอบข้างได้ง่าย หรือบ้างครั้งก้เป็นผู้ที่คิดว่าตัวเองรู้มากเที่ยวสั่งสอนผู้อื่นไปทั่วเข้าทำนองโง่แล้วอวดฉลาด คนโบราณจึงให้บูชาพระปางสมาธิเพื่อเตือนใจว่าให้ศึกษาอย่างถ่องแท้เสียก่อนจึงจะเผยแพร่ความรู้ออกไป และควรควบคุมตนเองให้ดี มากกว่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ผู้อื่น ตามคำโบราณที่ว่า เคร่งครัดกับตน แล้วผ่อนปรนกับคนอื่น ชีวิตจะเป็นสุข
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพฤหัสบดี
อัตถิโลเก สีละคุโณ สัจจังโสเจยยะ นุททะยา เตนะ สัจเจนะ กาหามิ สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง อาวัชชิตวา ธัมมัพะลัง สะริตวา ปุพพะเก ชิเน สัจจะพะละมะสายะ สัจจะกิริยะมะกาสะหัง สันติ ปักขา อะปัตตะนา สันติ ปาทา อะวัญจะนา มาตาปิตา จะนิกขันตา ชาตะเวทะ ปฏิกกะมะ สะหะ สัจเจกะเต มัยหัง มะหาปัชชะลิโต สิขี วัชเชสิ โสฬะสะ กะรีสานิ อุทะกัง ปัตวา ยะถา สิขี สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ เอสา เม สัจจะปาระมีติ


พระประจำวันศุกร์ ปางรำพึง
พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
ประวัติย่อ ภายหลังจากที่ตรัสรู้ได้ไม่นาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ภายใต้ต้นไทร (อชปาลนโครธ) ก็ได้ทรงรำพึงถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นว่าเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ่งยากแก่การเข้าใจ จึงทรงรู้สึกอ่อนพระทัยในการที่จะนำออกแสดงโปรดสัตว์ แต่เพราะพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าสรรพสัตว์มีภูมิต่างกัน(ทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงบัวสี่เหล่า) จึงทรงพระดำริที่จะแสดงธรรม ตามภูมิชั้นแห่งปัญญาสรรพสัตว์นั้นๆ
เกร็ดโหร
อิทธิพลของดาวศุกร์ ซึ่งเป็นดาวกิเลสสมบัติ ชวนให้ผู้คนหลงไหลในความสวยงาม ความพึงพอใจ จนบางครั้งใช้อารมณ์ในการตัดสินใจในการก่อบุญก่อกรรมต่างๆ คนโบราณให้บูชาพระปางรำพึงเพื่อเตือนใจไม่ให้ลุ่มหลง เพราะไม่มีอะไรได้ดั่งใจไปเสียทุกอย่าง ทุกข์เกิดได้เพราะความอยากได้อยากมี หรือสูญเสียสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ ไม่ได้สิ่งที่รักสิ่งที่ชอบก็เป็นทุกข์ ได้สิ่งที่ไม่รักไม่ชอบก็เป็นทุกข์ตามพุทธวัจนะว่า ความทุกข์มี กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันศุกร์
อัปปะสันเนติ นาถัสสะ สาสะเน สาธุสัมมะเต อะมะนุสเสหิ สะทา กิพพิสะการิภิ ปะริสานัญจะตัสสันนะ มะหิงสายะจะคุตติยา ยันเทเสสิ มะหาวีโร ปะริตตันตัมภะณามะ เห

พระประจำวันเสาร์ ปางนาคปรก
พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
ประวัติย่อ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก (มุจจลินท์) บังเอิญในช่วงนั้นมีฝนตกพรำๆ ตลอด ๗ วัน พระยานาคมุจลินท์ได้เลื้อยมาทำขนดล้อม พระวรกายของพระพุทธองค์ ๗ ชั้นแล้วแผ่พังพานปกไว้ในเบื้องบนเหมือนกั้นฉัตร ด้วยประสงค์จะกำบังลมฝนมิให้ต้องพระวรกาย
เกร็ดโหร
อิทธิพลของดาวเสาร์ พี่ใหญ่แห่งดาวบาปพระเคราะห์ หรือเรียกว่าดาวโทษทุกข์ ทำให้ผู้คนที่ได้รับกับอิทธิพลดาวเสาร์ มักเป็นผู้มีความอดทนสูง มีความสามารถในการรอคอยได้ดี แต่มักเป็นคนวิตกกังวล มองโลกแง่ร้าย แบบเจอมาเยอะ เจ็บมาเยอะ แต่ใช่ว่าดาวเสาร์จะมีแต่เรื่องไม่ดี ธาตุไฟสุมขอนแบบดาวเสาร์ก็มีข้อดีเหมือนกัน งานหนักๆ งานยากๆ คนอื่นทำไม่ได้ส่งมาได้เลย เรื่องความอึดไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว และใครอยากรุ่งเรื่องเกษตรกรรม เหมืองแร่ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ดาวเสาร์ให้คุณเรื่องพวกนี้ทั้งนั้น เรียกว่าเหนื่อยหน่อยแต่ก็คุ้ม คนโบราณให้บูชาพระปางนี้ เพื่อเตือนว่าถ้าดำรงค์ตนอยู่ในศีลในธรรม ยอมได้รับการปกป้องจากสิ่งที่อยู่รอบข้างไม่ต้องหวั่นเกรงต่อเภทภัยใดใด เพียงมีสติยึดมั่นในสิ่งดีดีเท่านั้น
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันเสาร์
ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต, นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตาฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ
loading...