loading...

ทั่วโลกจับตา!! 28 ก.ย.นี้ ซูเปอร์มูน-จันทร์สีเลือด ครั้งแรกในรอบ 33 ปี

ในวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ชาวโลกจะได้ชมปรากฏการณ์บนท้องฟ้า "บลัดมูน" หรือพระจันทร์สีเลือด พร้อมกับปรากฏการณ์ "ซูเปอร์มูน" หรือจันทร์เต็มดวงในจังหวะที่โคจรใกล้โลก ส่งผลให้ชาวโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติและมีสีแดงก่ำ โดยทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) เผยว่า ปรากฏการณ์บลัดมูนพร้อมกับซูเปอร์มูนนับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปี ซึ่งสาเหตุมาจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงเป็นแนวเดียวกัน ทำให้แสงที่ลอดผ่านชั้นบรรยากาศของโลกไปตกลงบนพื้นผิวดวงจันทร์จึงมีสีแดง
ขณะที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ในเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ระบุว่า
ดวงจันทร์ที่แดงอิฐ ที่โตสุดๆ ‪#‎เสียดายไทยไม่เห็น‬
28 กันยายนนี้ เกิด “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในคืน “ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 28 กันยายน 2558 เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี เป็นปรากฏการณ์หาชมยาก ไทยพลาดเห็นเพียงดวงจันทร์เต็มดวงสุกสว่างใหญ่กว่าปกติ 2-3 % เท่านั้น
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน 2558 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ขึ้น แต่น่าเสียดายประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้เนื่องจากตรงกับเวลากลางวัน ดวงจันทร์ยังอยู่ใต้ขอบฟ้า ปรากฏการณ์ครั้งนี้ สังเกตเห็นได้ในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรป แอฟริกา และด้านตะวันตกของเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,876 กิโลเมตร จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3% หรือที่เรียกกันว่า “ซูปเปอร์มูน” ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวข้างต้นจะสามารถมองเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงสีแดงอิฐที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติอีกด้วย ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก นับเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพียง 5 ครั้ง ได้แก่ ปีพ.ศ.2453, 2471, 2489, 2507, 2525 ครั้งที่ 6 ในวันที่ 28 กันยายน 2558 นี้และจะเกิดครั้งต่อไปในปีพ.ศ.2576 ถึงแม้คนไทยจะพลาดชมจันทรุปราคาเต็มดวง แต่ในคืนดังกล่าวจะยังได้เห็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี เชิญชวนรอชมและเก็บภาพความสวยงามของ “ซูปเปอร์มูน” ได้ทั่วประเทศ
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 28 กันยายน 2558 นี้ เกิดขึ้นในช่วงเช้าตามเวลาในประเทศไทย ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 07.11 น. และจากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกเกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 08.07 น. หลังจากนั้นดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ตั้งแต่เวลา 09.11 – 10.23 น. ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง หลังจากนั้นดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกเข้าสู่การเป็นช่วงจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกทั้งดวงในเวลา 11.27 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัว ซึ่งสังเกตได้ยากเนื่องจากดวงจันทร์มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ช่วงท้ายสุดดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 12.28 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงโดยสมบูรณ์
จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน โลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงสีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุดที่ตามองเห็นได้ ซึ่งจะเกิดการหักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์
ตามปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก โดย 1 รอบ ใช้ระยะเวลา 1 เดือน แต่ละเดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างประมาณ 363,700 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ดวงจันทร์ห่างจากโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกและโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์กระทำต่อผิวโลก ส่งผลให้ให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ และการที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรใกล้โลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ที่มา เฟซบุ๊คแฟนเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
loading...