loading...

ถอดรหัส “สื่อ(นอก)“ ความรู้น้อย “อย่าริมาสอน(ผม)เรื่องศก.ไทย“

ถอดรหัส “สื่อ(นอก)“ ความรู้น้อย “อย่าริมาสอน(ผม)เรื่องศก.ไทย“
เป็นที่เกรียวกราว ถูกอกถูกใจกองเชียร์ และเป็นวาทะร้อนของสังคมไทยไม่น้อย กับ การประกาศกร้าวของ จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวานนี้ (20ก.ย.58) ในเวทีจุดประกาย "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" จนเป็นข่าวพาดหัวของสื่อไทยในวันนี้ว่า "สื่อนอกอย่าริอ่านมาสอนเรื่องเศรษฐกิจไทย"
เพื่อให้ชัดเจนลองไปดูคำพูดของรองนายกสมคิดกัน
.........."วันนี้ภาครัฐ ภาคประชาชน ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถยืนหยัดด้วยความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นขาข้างหนึ่งของคนไทยทั้ง 76 ล้านคน ส่วนขาอีกข้างคือการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายสร้างเศรษฐกิจฐานราก ได้มีนักวิเคราะห์ของฝรั่งเขียนถึงว่า ไม่ได้ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีสูงขึ้น จะต้องไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จีดีพีถึงจะดีขึ้น 
ตรงนี้ผมขอบอกกลับไปยังสื่อฝรั่งเลยให้ไปเรียนหนังสือใหม่ หากความรู้ไม่พออย่าริอ่านเสนอหน้ามาสอนประเทศไทย
เพราะในวันนี้เราจะเอาข้อจำกัดของแต่ละภาคส่วนมาประสานกัน เมื่อมีการร่วมมือกันทั้ง 3 ภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชนแล้ว เช่นที่ นพ.ประเวศ วะสี พูดมาเป็น 10 ปีว่าจะสามารถเขยื้อนภูเขาได้ เพราะในครั้งนี้จะสามารถเขยื้อนประเทศไทยได้เลย สิ่งที่ตนเองทำในวันนี้ ไม่ได้ต้องการอนาคตทางการเมืองเพราะความฝันของผมต้องการนั่งเก้าอี้โยกและเลี้ยงหลาน
แต่สิ่งที่ทำในวันนี้อยากให้ นพ.ประเวศ สมความมุ่งหมายที่ทำงานด้านนี้มาตลอดชีวิต และอยากให้นายกรัฐมนตรีมีรอยยิ้มทุกวัน" นายสมคิดกล่าว (ไทยรัฐออนไลน์)
มีสื่อบางสำนักรายงานบรรยากาศในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงสื่อนอกหรือสื่อต่างประเทศที่วิจารณ์เศรษฐกิจได้ คนที่ร่วมประชุมตบมือแสดงความถูกอกถูกใจกันเกรียวกราวทีเดียว
หากไม่คิดอะไรมาก ก็คงหมายความตามนั้นตรงไปตรงมา... เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว...แต่ ในข้อเท็จจริง ในการเสนอนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยปรกติ ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนตามปรกติ และไม่ใช่เฉพาะ สื่อต่างประเทศเท่านั้นที่ติดตามและวิเคราะห์วิจารณ์ สื่อในประเทศก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขันเสมอมา
รวมทั้งมีนักวิชาการหลายคนหลายสำนักที่ติดตามและให้ความเห็น วิเคราะห์วิจารณ์มาโดยตลอดเช่นกัน อย่างเช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ โดยเฉพาะ ดร.อัมมาร สยามวาลานักวิชาการเกียรติคุณ ก่อนหน้านี้ก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่นกัน โดยเฉพาะได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ ประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการขยายตัวด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ อัดฉีดรากหญ้า แต่เป็นการเพิ่มหนี้ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น
การที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หยิบเอาการวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจ ของสื่อต่างประเทศมาพูด...และเน้นไปถึงความไม่เข้าใจ มีความรู้น้อย ไม่เข้าใจเศรษฐกิจไทย ฯ เป็นการตอกกลับสื่อนอกนั้น แท้จริงแล้ว ผลของความคิดไม่ใช่เพียงตอกกลับสื่อนอกหรือสื่อต่างประเทศเท่านั้น ...ความคิดนั้นเป็นการตอกกลับไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ทุกส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำทีมของตน
การหยิบยกการ วางนโยบายเศรษฐกิจ โดยยก คำประชารัฐ มาอธิบายเสียใหม่ว่าไม่ใช่ประชานิยม อธิบายแนวนโยบายเสียใหม่ว่า เป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ในอนาคต ย่อมสามารถอธิบายได้ แต่น้ำหนักและข้อเท็จจริงต่างหากที่จะพิสูจน์และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับทุกภาคส่วน
การเน้นเศรษฐกิจฐานราก เป็นทิศทางที่ดี ถูกต้องและต้องสนับสนุนไม่มีใครปฏิเสธ แต่วิธีการ และการแก้ไขวางระบบ การวางโครงสร้าง แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น
การผลักดันธุรกิจฐานราก หรือเอสเอ็มอี ไม่ใช้เพิ่งเกิดมาในครั้งนี้ที่ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ในสมัยที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เคยมีบทบาทในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเมื่อ10กว่าปีก่อน ก็เดินหน้านโยบายเหล่านนี้มาก่อน
ดังนั้นคำถามก็คือ หากทิศทาง วิธีการถูกต้องแท้จริง ระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอีไทยเป็นอย่างไร...ทำไม่ไม่สามารถเข้มแข็งได้จริงตามที่ได้วางฐานรากไว้ วันนี้ทำไม่ต้องกลับมาวางฐานรากกันอีกรอบ...?
วันนี้น่าสนใจยิ่งกับบทบาทของทีมเศรษฐกิจ น่าสนใจในความมั่นใจที่มีมากล้น มากเสียจนคนที่มองเห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์กลายเป็น คนที่รู้น้อย ไม่มีความรู้ อย่าได้ริเสนอหน้ามาสอนเรื่องเศรษฐกิจ... และน่าสนใจต่อไปข้างหน้าว่า ...สื่อ ทั้งสื่อนอก สื่อใน และนักวิชาการจะกล้าวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจอีกหรือไม่อย่างไร.....?
โดย : เปลวไฟน้อย
loading...