เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว พุทธองค์ได้ค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิตด้วยการตรัสรู้ และก่อตั้งศาสนาใหม่ที่เน้นคำสอนและการปฏิบัติตนในแนวทางที่เห็นจริงอย่างมีสาระ โดยไม่ต้องลุ่มหลงงมงายอยู่กับโชคลาภและดวงชะตาราศี ในครั้งนั้นพุทธบัญญัติข้อหนึ่งที่มอบให้กับเหล่าพระสงฆ์ก็คือ “การเข้าพรรษา” โดยเริ่มต้นในวันถัดจาก ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งตรงกับต้นฤดูฝน
เพื่อให้บรรดาสงฆ์ได้อยู่ประจำสถานที่เป็นเวลา 3 เดือนของปฏิทินจันทรคติ เพื่อใช้เวลาช่วงนี้ศึกษาทบทวนเนื้อหาของธรรมะ และไม่ไปรบกวนชาวบ้านที่กำลังเริ่มต้นทำการเพาะปลูก อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำพืชพรรณและสัตว์เล็กๆที่อยู่ตามพื้นดิน
เพื่อให้บรรดาสงฆ์ได้อยู่ประจำสถานที่เป็นเวลา 3 เดือนของปฏิทินจันทรคติ เพื่อใช้เวลาช่วงนี้ศึกษาทบทวนเนื้อหาของธรรมะ และไม่ไปรบกวนชาวบ้านที่กำลังเริ่มต้นทำการเพาะปลูก อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำพืชพรรณและสัตว์เล็กๆที่อยู่ตามพื้นดิน
จะเห็นได้ว่าพุทธบัญญัตินี้ ผูกมัดเงื่อนไขไว้ 2 ข้อ คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 และต้นฤดูฝน ตอนเริ่มต้นใหม่ๆในปีแรกๆก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ครั้นย่างเข้าปีที่สี่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ร่นเข้าไปอยู่ในฤดูแล้ง (ราวๆเดือนเมษายน) แทนที่จะเป็นฤดูฝน
เป็นเหตุให้วันออกพรรษาร่นเข้ามาเป็นต้นฤดูฝน ผิดวัตถุประสงค์ของพุทธบัญญัติ จึงต้องมีการปรับชดเชยระหว่าง ปฏิทิน “จันทรคติ” กับ ปฏิทิน “สุริยะคติ” เนื่องจากรอบปีของดวงจันทร์ (Lunar month) เร็วกว่ารอบปีของดวงอาทิตย์ (Solar month) ประมาณปีละ 11 วัน ประกอบกับฤดูกาลต่างๆที่เกิดบนโลกมีต้นเหตุมาจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ที่ทำมุมตกกระทบกับพื้นผิวโลกในองศาที่แตกต่างกัน
ดังนั้นทุกๆ 2-3 ปี จึงต้องเพิ่มเดือนจันทรคติเข้าไปอีก 1 เดือน โดยให้เพิ่มที่เดือน 8 มีสองครั้ง เรียกว่าเดือน “แปดหน้าและแปดหลัง” หรือ “แปดสองหน” และให้ไปเริ่มเข้าพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ ของเดือนแปดหลัง
การชดเชยเช่นนี้ช่วยให้การเข้าพรรษาอยู่ในช่วงเวลาของต้นฤดูฝนตรงตามพุทธบัญญัติ สูตรการปรับระหว่างปฏิทินสองอย่างนี้ถูกคิดค้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวกรีก ชื่อ เมตั้น แห่งกรุงเอเธนส์ (Meton of Athens) เมื่อ 440 ปี ก่อนคริสตกาล ภาษาวิชาการทางดาราศาสตร์เรียกว่า Intercalation หรือ Metonic Cycle กำหนดให้เพิ่มเดือนจันทรคติ 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี โดยปฏิทินพุทธของไทยใช้วิธีพิจารณาที่วันออกพรรษา หากวันดังกล่าวร่นขึ้นมาอยู่ที่ต้นเดือนตุลาคมและทำท่าจะร่นเข้าไปในเดือนกันยายนของปีต่อไป ก็กำหนดให้ปีที่จะถึงมี 8 สองหน เรียกว่า “อธิกมาส”